saby

saby
เวลาสบาย ๆ ของ นาย หลุย

lสิ่งดีดีที่มีให้ตลอดไป

ขอเก็บเธอไว้ให้ลึกสุดใจ

เธอยัง..............ฉันหรือป่าว

คนสุดท้าย ความหมาบดีมาก

ดนตรีสากลมันส์ ๆ

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

กินอย่างพุทธ

กินอย่างพุทธ
พระไพศาล วิสาโล
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
               ฝรั่งคนหนึ่งมาเที่ยววัดป่าแถวอีสาน กลับไปก็บ่นให้เพื่อน ๆ ฟังว่า วัดดังกล่าวไม่น่าไปอย่างยิ่ง เธอให้เหตุผลว่าพระทั้งวัดไม่ถูกกันเลย เวลากินอาหารก็ต่างคนต่างกิน ไม่ยอมคุยกันสักคำ อย่างนี้แล้วจะน่าศรัทธาได้อย่างไรฝรั่งผู้นั้นไม่เข้าใจวัตรปฏิบัติของพระว่า เวลาฉันอาหาร ท่านจะฉันด้วยความสงบ สำรวม เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนพัฒนาจิตไปด้วยในตัวฝรั่งอาจถือว่าเวลาอาหารเป็นช่วงเวลาสังสรรค์ แต่ตามธรรมเนียมพุทธ (ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในหมู่พระป่าเท่านั้น) การกินอาหารเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัวผู้คนทั่วไปมักเข้าใจว่าการกินอาหารเป็นเรื่องของร่างกายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วมันมีผลต่อจิตใจด้วย ผลในทางจิตใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรากินอะไรเท่านั้น เรากินอย่างไรก็มีความสำคัญเช่นกัน คนที่กินไปคุยไป หรือปากก็เคี้ยว ใจก็ครุ่นคิดกังวล นอกจากอาหารจะย่อยยาก แล้ว ใจก็เครียดง่าย พาลจะเป็นโรคกระเพาะเอา ยิ่งกว่านั้นพฤติกรรมการกินแบบนี้ยังบ่มเพาะนิสัยฟุ้งซ่าน แซ่ส่าย มีสมาธิได้ยากในทางกลับกัน ถ้ากินอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่ร่างกายเท่านั้น จิตใจก็พลอยได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วย อย่าลืมว่าไม่ใช่แต่ร่างกายเท่านั้นที่ต้องการอาหาร จิตใจก็ต้องการด้วยเช่นกันอาหารของจิตใจคืออะไร ? อย่างแรกได้แก่ความสงบ การกินอาหารเป็นโอกาสหนึ่งที่จิตใจควรได้พักผ่อนหลังจากถูกใช้ไปกับการงานต่าง ๆ มากมาย ถ้าเราลองกินโดยไม่พูดคุยกับใครดูบ้าง และไม่ต้องหาเรื่องมาคิดให้วุ่นวาย ให้ใจได้รับรู้อยู่กับการกิน สัมผัสรับรสต่าง ๆ อย่างแจ่มชัด แม้จะฟุ้งซ่านไปบ้าง ก็ดึงจิตกลับมาที่การกิน การกระทำอย่างนี้เรียกว่ากินอย่างมีสติ ผลที่ตามมาคือ ความสงบจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น สมาธิจะได้รับการพัฒนา สติและสมาธิดังกล่าวนี้แหละที่เราสามารถเอาไปใช้เวลาทำงานทำการต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แต่ในเวลาอาหารเท่านั้นนอก จากความสงบแล้ว จิตใจยังต้องการปัญญาหรือความตระหนักรู้ ในทางพุทธศาสนา ถือว่าเวลาอาหารยังเป็นเวลาที่จะได้เตือนตนให้ตระหนักว่าชีวิตเรานั้นต้อง การสิ่งที่เรียกว่า”คุณค่าแท้”ยิ่งกว่า”คุณค่าเทียม” ในเรื่องอาหารนั้น คุณค่าแท้ได้แก่ประโยชน์ต่อชีวิตและสุขภาพ ส่วนคุณค่าเทียมได้แก่รสอร่อย ความโก้เก๋ ถ้าเรากินอาหารโดยมุ่งรสชาติและหน้าตา (เช่น กินอาหารแพง ๆ ร้านดัง ๆ) กิเลสก็จะสะสมพอกพูนในจิตใจของเราพร้อม ๆ กับไขมันที่เกาะตามเส้นเลือด ด้วยเหตุนี้ตามธรรมเนียมพุทธ ก่อนจะกินอาหาร จึงนิยมเตือนตนด้วยบท”ปฏิสังขาโย” เพื่อให้ระลึกว่าเราพึงกินอาหารโดยมุ่งคุณค่าแท้เป็นสำคัญ อย่าได้กินตามใจกิเลส คนสมัยนี้อาจรู้สึกว่าบทปฏิสังขาโยโบราณไปแล้ว หรือเหมาะสำหรับพระ แต่หากเตือนตนด้วยเนื้อหาคล้าย ๆ กันก่อนกินอาหาร ก็ถือว่าให้ปัญญาแก่จิตใจแล้วความตระหนักรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตก็คือ ความตระหนักว่าชีวิตเราอยู่ได้เพราะอาศัยสิ่งต่าง ๆ มากมาย เวลาอาหารเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ เพราะทุกอย่างที่เรากินเข้าไปล้วนเป็นผลพวงแห่งน้ำพักน้ำแรงของผู้คนมากมาย อีกทั้งยังเกิดจากชีวิตนับไม่ถ้วน โดยโยงไปถึงป่าเขาลำเนาธารดินฟ้าเมฆฝน ฯลฯ ในเมื่อเราเป็นหนี้บุญคุณผู้คนและสิ่งต่าง ๆ มากมายเช่นนี้ อย่างน้อยก็ควรขอบคุณและอุทิศส่วนกุศลหรือแผ่เมตตาไปให้ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงมีการสวดอนุโมทนา ตลอดจนกรวดน้ำเช้าเย็น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการพยายามทำชีวิตให้มีคุณค่า พัฒนาตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสียสละของสรรพชีวิต ความตระหนักรู้และความตั้งใจดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของพระเท่านั้น หากยังจำเป็นสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ด้วย เวลาอาหารเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เตือนตนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดมุมมองที่ถูกต้องตามความเป็นจริง และเกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงาม มุมมองเช่นนี้พุทธศาสนาถือว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง
            ชีวิตนั้นไม่ได้แยกเป็นส่วน ๆ เวลากินอาหาร เราจึงไม่พึงบำรุงเลี้ยงแต่ร่างกายเท่านั้น หากเราควรบำรุงเลี้ยงจิตใจด้วย โดยกินอย่างมีสติและสมาธิ ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะปัญญาให้เกิดขึ้นแก่จิตใจ ด้วยการเตือนตนให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของอาหาร ไม่หลงปล่อยใจไปกับคุณค่าเทียม พร้อมกันนั้นก็ให้ตระหนักว่าเราเป็นหนี้บุญคุณสรรพชีวิต จึงควรใช้ชีวิตให้มีความหมาย
อัน ที่จริงถ้าจะกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์จริง ๆ นอกจากมิติทางกายและจิตใจแล้ว การกินอย่างพุทธยังแยกไม่ออกจากมิติทางสังคม นั่นคือต้องคำนึงเสมอว่าการกิน (และการบริโภค) ของเรานั้นส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือไม่ มีอาหารและผลิตภัณฑ์หลายอย่างเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เบียดเบียนคนยากคนจน หรือทรมานสัตว์ หากกินด้วยจิตสำนึกอย่างชาวพุทธจริง ๆ ย่อมต้องหลีกเลี่ยงอาหารและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หาไม่จะเท่ากับว่าเราไปส่งเสริมสนับสนุนการเบียดเบียนดังกล่าว
           กาย จิต และสังคมล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และต่างมาบรรจบในแทบทุกกิจกรรมของชีวิต รวมทั้งการกิน การกินจึงมิใช่แค่การหาอาหารใส่ท้องเท่านั้น หากยังเป็นการบ่มเพาะจิตใจของเรา และปรุงแต่งสังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น